• โทรศัพท์: +662 792 0001
  • อีเมล: info@amatafoundation.org
  • เวลาทำการ: 8:30 น. ถึง 17:00 น.

อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 6/2555

นายคำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) และนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (พนมเทียน)

ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช 2555

ทุกปีมูลนิธิอมตะจะคัดเลือกบุคคลที่ทรงคุณวิเศษ ผู้อุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์แวดวงวรรณกรรมไทย เพราะความเป็นอมตะคือการใช้ความคิดอ่าน ตรึกตรอง ขีดเขียนงานวรรณกรรม เพื่อจรรโลงสังคมอย่างต่อเนื่อง

ปี 2555 เป็นปีพิเศษในประวัติการมอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ของมูลนิธิ เพราะเราได้มอบรางวัลอันมีคุณค่าให้แก่ปูชนียบุคคลสองท่านในแวดวงวรรณกรรม คือ “ลาว คำหอม” และ “พนมเทียน”

“ลาว คำหอม” หรือ “คำสิงห์ ศรีนอก” เป็นนักเขียนที่สร้างมโนสำนึกในด้านสังคมและการเมืองอย่างมีคุณค่า สร้างพลังให้แก่จิตวิญญาณของผู้อ่าน ด้วยกระบวนการแห่งชีวิตที่ลึกซึ้ง เข้าใจในปรากฏการณ์ที่เป็นไปในบริบทของสังคมประเทศ ด้วยภาพสะท้อนที่เต็มไปด้วยโลกทัศน์ และชีวทัศน์ที่เปิดกว้าง

ผลงานในเชิงวิพากษ์อันหนักแน่นของท่าน สร้างความสั่นสะเทือนต่อการรับรู้ ในความเป็นจริงของความรู้สึกจริงที่ยังคงติดตรึงอยู่กับความทรงจำ กระทั่งกลายเป็นหมุดหมายของการรังสรรค์

ผลงานวรรณกรรมของ “ลาว คำหอม” มีความหมายต่อชีวิต ทั้งในนามของความเป็นนักเขียนที่ยืนยง และในนามของความเป็นประชาชนที่มีหัวใจอันหยั่งลึกต่อการรับผิดชอบบนวิถีศรัทธาที่น่ายกย่อง

“พนมเทียน” หรือ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เขียนนวนิยายเรื่องแรกเมื่ออายุ 16 ปี ปัจจุบันมีผลงานนับร้อยเรื่องในแนวต่างๆ ทั้งเรื่องบู๊ เรื่องรัก เรื่องอาชญากรรม เรื่องผจญภัย และจินตนิยาย

ผลงานของ “พนมเทียน” ครองใจผู้อ่านทุกรุ่น ทุกเพศ ทุกวัย มายาวนานกว่าหกทศวรรษ นักอ่าน และนักเขียนรุ่นใหม่ในปัจจุบันยังคงตามอ่านนวนิยายของ “พนมเทียน” อย่างต่อเนื่อง “เพชรพระอุมา” ผลงานชิ้นอมตะ เป็น 1 ใน 101 เรื่อง ของงานเขียนในดวงใจของนักอ่าน และนักเขียนที่สำรวจโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นวนิยายของ “พนมเทียน” ไม่ได้ให้แต่ความบันเทิงใจด้วยจินตนาการอันบรรเจิด และภาษาที่สร้างจินตภาพ เร้าผัสสะทางอารมณ์เท่านั้น แต่ได้สะท้อนปัญหาของสังคมตามยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวละครของ “พนมเทียน” เป็นภาพสะท้อนของมนุษย์ที่มีคุณธรรม มีความเป็นผู้นำ กล้าหาญ หนักแน่น เสียสละ ยุติธรรม ซื่อสัตย์ กตัญญู ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนไทยในยุคปัจจุบัน

การให้รางวัลแก่ “ลาว คำหอม” ก็ด้วยเหตุว่า ชีวิตและงานของท่าน คือการทำให้ผู้คนได้เห็นทั้งร่างและวิญญาณของสังคมไทยอย่างซื่อตรง ลึกซึ้ง ขณะที่การให้รางวัลแก่ “พนมเทียน” ก็เพราะชีวิตการทำงานของท่าน เคลื่อนไหว จับทางอารมณ์ของสังคมไทยได้อย่างไม่มีใครเหมือน

ปีนี้ มูลนิธิอมตะเห็นว่า สังคมไทยต้องก้าวข้ามความแตกต่าง ชนิดที่ให้ร้ายสังคมจนแตกแยก และชื่นชมความแตกต่างที่จะช่วยให้การเดินทางสู่อนาคตของสังคมไทย เป็นไปด้วยก้าวย่างที่จริงจัง มั่นคง และรื่นรมย์ เช่นที่ “นักเขียนอมตะ” ทั้งสองได้มีคุณูปการต่อสังคมไทยมาชั่วชีวิต